[Startup CTO ตอนที่ 6] เริ่มต้นด้วย 5 คุณสมบัติของ Softskills เพื่อแปลงร่างให้ Programmer เป็น Entrepreneur

เกริ่นนำ

เคยไม๊ครับ ที่เคยได้ยินคนในวงการอื่นบอกว่าคุยกับ Programmer ไม่รู้เรื่อง ???

คำนีั้ผมพอได้ยินมาจากหลายๆ คนที่อยู่รอบๆ ตัวเลยทีเดียว บางคนก็ว่า Programmer พูดไม่รู้เรื่อง บางคนก็พูดว่า Programmer ทำงานด้วยยาก บางคนก็พูดว่า Programmer ต้องคุยด้วยกันกับ Programmer ด้วยกันเท่านั้น ……. ผมมองว่าคำพูดเหล่านี้เป็นจริงในบางจุดเนื่องจาก Programmer ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่กับหน้าคอมไม่ค่อยได้สื่อสารกับคนอื่นๆ มากนัก ทำให้ไม่มีประสบการณ์เพื่อฝึกฝน Softskill มากนัก  อีกทั้งตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาของไทยเร่งผลิตบัณฑิต โดยเน้นวิชาการหรือ Hard Skills มากจนไม่มีการสอนในเรื่องของ Soft Skill กันอย่างจริงจัง การสรรหาและคัดเลือกบุคลากรของบริษัทหลายแห่งจึงใช้วิธีดูว่าบัณฑิตจบใหม่มีทักษะด้าน Soft Skill หรือไม่ จากกิจกรรมในระหว่างการเรียน โดยเชื่อกันว่า คนที่เคยทำกิจกรรมระหว่างการเรียน มักจะมีทักษะด้านคนเก่ง หรือ Soft Skill มากกว่าคนที่เรียนเก่งได้คะแนนสูง แต่ไม่เคยร่วมกิจกรรมหรือทำงานร่วมกับคนอื่นเลย

การเป็น Programmer  ก็เช่นกันนอกจากจะมี Hard Skill (Coding, Design and Analysis, etc.) ในการทำงานแล้ว ยังควรต้องรู้ Soft skill อีกด้วย ซึ่งจะเป็นการพัฒนาตัวเองให้เหนือไปจาก Programmer ธรรมดา ดังที่หลักสูตร Intro to Startup CTO ที่ผมคิดขึ้นมาจะรวมเรื่องเหล่าพวกนี้เข้าไปด้วย เพื่อแปลงร่าง Programmer ให้เหนือขึ้นไป

Softskill?

เอ๊ะ บางคนอาจจะถามว่าแล้วไอ้ Soft Skill นี่มันคืออะไรนะ ถ้าสรุปง่ายๆ ก็สามารถให้นิยามของ Softskill ได้เป็น

  • ทักษะหรือความชำนาญที่เกี่ยวข้องกับคน ทักษะนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับความชำนาญในงานด้านใด ด้านหนึ่ง โดยตรง แต่เป็นตัวพลักดันให้การทำงานประสบความสำเร็จและก้าวหน้า
  • เป็นลักษณะส่วนบุคคลที่สัมพันธ์กับความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence Quotient) เช่นทักษะการสื่อสารการแก้ปัญหาความขัดแย้ง การจูงใจ การจัดการอารมณ์ของตัวเอง การเจรจาต่อรอง การคิดเชิงกลยุทธ์ การสร้างทีมงาน ซึ่งแตกต่างจาก Hard Skills ที่สัมพันธ์กับความฉลาดทางสติปัญญา (Intelligence Quotient)
  • ตัวอย่างเช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น, ทัศนคติ, จริยธรรมในวิชาชีพ

5 คุณลักษณะ

แรกสุดที่ผมอยากแนะนำคือ 5 คุณลักษณะ ที่จะแปลงให้คุณเป็นโปรแกรมเมอร์ Style ผู้ประกอบการ

  1. “นักเล่าเรื่อง” – ไม่ว่าเราจะเป็น Programmer ที่เก่งแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีการแสดงออกมาก็ไม่มีใครรู้ จริงไม๊ครับ ? ถ้าคุณอยากเป็น Programmer ที่ทำงานในบริษัทอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องมีใครรู้ว่าคุณทำอะไร หรือคุณเชี่ยวชาญตรงไหน ก็ไม่จำเป็นต้องทำพวกนี้ก็ได้ (ซึ่งไม่ผิดนะครับ เป็นทางเลือกตามใจชอบของแต่ละคน) แต่ถ้าคนคาดหวังที่จะเป็นผู้ประกอบการ หรือเป็นมากกว่า Programmer แล้วหล่ะก็ สิ่งแรกที่คุณอาจจะเริ่มเลยคือการ “ฝึกการเขียน”  ไม่ว่าจะเป็นการเขียนเรื่องทั่วๆไป หรือเรื่อง Technical ด้าน Programming ลองฝึกดูเถอะครับ เช่น อาจจะลองเริ่มเลยวันละ 30 นาทีโดยการเขียน blog ลง medium.com หรือถ้าของไทยก็ storylog.co
  2. “ตัวกลาง” – การเป็นตัวกลางเพื่อลดความขัดแย้งเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่คุณเป็นคนที่สามที่จะช่วยเหลือคน 2 คนที่กำลังทะเลาะกันอยู่ หรือว่าคุณเป็นหนึ่งในคู่กรณีนั้น ในฐานะผู้นำคุณควรจะมีความสามารถนี้ ไม่อย่างนั้นสถานการณ์จะเข้าสู่ขั้นที่บรรยากาศเลวร้ายเลยที่เดียว ต้องพยายามอย่าคิดว่าผู้ร่วมงานของคุณเป็นคนไม่ดี ให้พยายามคิดในแง่บวกว่าเค้าแค่กำลังพยายามแก้ปัญหาในทางที่อาจจะผิดพลาดอยู่ แล้วหน้าที่ของเราคือช่วยเค้าแก้ปัญหาในทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น..
  3. “สันโดษ” – หนึ่งในการประสบความสำเร็จคือการรู้จัก focus หรือจดจ่อกับสิ่งที่ทำ การวิจัยระบุว่าถ้าเราทำให้สมองเกิดการ Multi Task ไปมาจะทำให้งานเสร็จช้าเป็น 2 เท่า และ Error rate พุ่งพรวดถึง 50 % กันเลยทีเดียว ดังนั้นเราสามารถเริ่มฝึกตนได้ง่ายๆ ด้วยการจัดเวลาเป็น slot ราวๆ slot ละ 20 นาทีเพื่อทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้เสร็จสิ้น โดยในระหว่านั้นให้ตัดขาดจากสิ่งอื่นๆ(สันโดษ) เช่นการเล่น facebook หรือ chat line  และทำแค่สิ่งนั้นๆ เพียงแค่สิ่งเดียวไปเลย รับรองผลลัพท์ของงานโดยรวมจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  4. “การนำเสนอ” – ได้มีการกล่าวกันไว้ว่า 3 สิ่งที่ Steve Jobs มีและเป็นส่วนสำคัญในการเป็นผู้นำที่ดีได้แก่ การนำเสนอ, การพูด และการจูงใจผู้อื่น โดย Jobs ได้ใช้ทั้ง 3 Skill นี้เพื่อทำการเล่าเรื่องราวของ Apple รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ของ Apple ว่าจะสามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้ใช้ได้อย่างไร .. แล้วจะทำยังไงให้นำเสนอได้ดีหล่ะ?? โดยเราสามารถเริ่มฝึกการนำเสนอได้จาก การมองตาผู้ฟัง , การโชว์สถิติใน Slide เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ, และ ฝึกฝึกฝึก !!!
  5. “การเป็นครู” – หลายครั้งในชีวิตการทำงานของผมที่ต้องดูแลลูกน้อง สิ่งแรกที่ผมจะต้อง focus ก่อนเลยคือการดูลูกน้องว่าเค้าเหมาะกับการทำงานอะไร และเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับเค้าในการสอนเค้าเพื่อให้เค้าถนัดด้านนั้นๆ มากยิ่งขึ้น เช่นถ้าบางคนชอบ Backend ก็ให้ทำ Backend ไปก่อน อย่าพึ่งไปทำ Frontend หรือไปทำ mobile app (ซึ่งไม่น่าจะถนัดได้เลย) และนอกจากเนื้อหาที่เราเลือกที่สอนคนอื่น เราต้องรู้จักตั้งต้นด้วย “คำถาม” ที่ถูกต้องในการให้เค้าได้คิดเองด้วย ไม่ใช่คิดคำตอบแทนเค้าไปตลอด ไม่อย่างงั้นกลายเป็นว่าถ้าเราไม่อยู่ งานก็เดินต่อไม่ได้เลย ทำให้เราต้องเหนื่อยอยู่เรื่อยๆ และเราก็จะไม่สามารถยกระดับตัวเองไปสู่การเป็น Entrepreneur ที่ดีได้ โดยหลักของการเป็นครู 3 ข้อได้แก่ เต็มใจที่จะสอน (เพราะผู้ถูกสอนส่วนใหญ่จะประหม่า การที่เราแสดงความเต็มใจหรือจริงใจจะทำให้เค้าสัมผัสได้และประหม่าน้อยลง), อดทน (ผู้ที่ถูกสอนต้องมีการทำผิดบ้าง แต่เราก็ต้องอดทนเพราะหวังว่าเค้าจะได้ใช้ความผิดพลาดเพื่อเรียนรู้มากขึ้น) และ ให้กำลังใจ (กระตุ้นให้ลูกน้องไม่กลัวการผิดพลาด เพื่อให้การผิดพลาดเป็นสอนเค้า)

ก็เกริ่นๆ คร่าวๆ ราวๆนี้นะครับ ถ้าชอบก็บอกจะได้เขียนแนวๆ นี้เพิ่มอีก

เรียบเรียงใหม่จาก huffingtonpost , facebook 1577

อย่าลืมสนุกกับ Blog ผมได้


Leave a comment!

You must be logged in to post a comment.