“ดีป้า” ดันสตาร์ทอัพและผู้พัฒนาดิจิทัลไทย คว้า 4 รางวัลระดับอาเซียนจากเวที AICTA 2018

“ดีป้า” ดันสตาร์ทอัพและผู้พัฒนาดิจิทัลไทย คว้า 4 รางวัลระดับอาเซียนจากเวที AICTA 2018

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สนับสนุนและส่งผลงานจากผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพดิจิทัลของไทย จำนวน 18 ผลงาน เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวดในการแข่งขันเวทีอาเซียน ASEAN ICT Awards 2018  หรือ AICTA 2018ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ณ เมืองอูบุด บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 4-5 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสิ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจสำหรับการวิจัยและพัฒนาให้กับนักนวัตกรรมด้าน ICT ในอาเซียน

 

การแข่งขันในเวที AICTA 2018 แบ่งเป็นหมวดหมู่ทั้งสิ้น 6 สาขา โดยมีผู้จัดส่งผลงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจาก 11 ประเทศอาเซียน เข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 100 ผลงาน โดยผลงานจากผู้ประกอบการและผู้พัฒนาดิจิทัลไทยที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ มีทั้งสิ้น 4 ผลงาน ใน 4 สาขา ได้แก่

  1. รางวัลเหรียญทอง ประเภท Digital Content (DLC) เป็นของผลงาน VR SIM-Virtual Reality Simulation Training Platform for Sugar Cane Harvester โดยบริษัท บลูโอเชี่ยน เทคโนโลยี จำกัด) ซึ่งเป็นระบบการฝึกอบรมทักษะการควบคุมการทำงานด้านเกษตรกรรมในสภาวะต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality: VR) โดยระบบที่พัฒนาขึ้นช่วยในการฝึกคนขับรถตัดอ้อย ให้ก้าวผ่านข้อจำกัดของวิธีฝึกสอนแบบเดิมๆ และ ยังช่วยเสริมประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวอ้อยผ่านทาง machine learning ได้อีกด้วย ในการฝึกขับรถตัดอ้อยปกติแล้ว การฝึกสอนพนักงานขับรถตัดอ้อยเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี ถึงจะสามารถขับรถได้ เพื่อให้ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อ รถ และผลผลิต การนำเทคโนโลยี VR มาเปิดโอกาสให้นักขับมือใหม่ได้ฝึกฝนและเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง โดยที่ไม่ต้องรอฤดูเก็บเกี่ยวหรือเสี่ยงไปกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และด้วยพลังจาก machine learning เรายังสามารถนำประสบการณ์และความเข้าใจของนักขับรถตัดอ้อยมืออาชีพมาวิเคราะห์ เพื่อแนะนำเส้นทางการขับรถเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อยให้ได้รวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่เก็บเกี่ยวมากที่สุด

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/BlueOceanTechnology

  1. รางวัลเหรียญเงิน ประเภท Startup Company (STC) ได้แก่ ผลงาน Refinn โดยบริษัท รีฟินน์อินเทอร์เนชั่นแนล ดอทคอม เป็นแพลตฟอร์มช่วยบริการอำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเป็นสื่อกลางระหว่างลูกค้าที่ต้องการรีไฟแนนซ์บ้านกับผู้ให้บริการสินเชื่อได้เจอกัน ช่วยลดระยะเวลาการขออนุมัติสินเชื่อ จากที่ต้องรอนานกว่า 1 สัปดาห์ เหลือเพียง 1 วัน โดย Refinn จะรวบรวมข้อมูลของผลิตภัณฑ์สินเชื่อจากหลากหลายธนาคารและสถาบันการเงิน แล้วนำข้อมูลมาคำนวณเปรียบเทียบ เพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุดไปเสนอต่อผู้ใช้บริการ รวมถึงให้คำแนะนำในระยะยาวถึงการวางแผนปลดหนี้ให้เร็วที่สุดแก่ลูกค้า โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม ปัจจุบันมีสถาบันการเงินร่วมให้บริการแล้วมากกว่า 10 แห่งและกำลังขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.refinn.com

  1. รางวัลเหรียญทองแดง ประเภท Research and Development (RND) ได้แก่ ผลงาน Kids Up จากบริษัท อาร์ติคูลัส จำกัด เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยแก้ปัญหาการจราจรบริเวณโรงเรียน ซึ่งโดยจะเชื่อมการทำงาน 3 ส่วน คือ โรงเรียน ผู้ปกครอง และ เด็ก โดยเน้นหลักที่ผู้ปกครอง แอปพลิเคชันมีฟังก์ชันที่สามารถกด Calls my Kid เมื่อกำลังจะไปรับนักเรียน ระบบจะเชื่อมกับ Google Cloud Platform คำนวณระยะเวลาก่อนถึงหน้าโรงเรียน และที่โรงเรียนสามารถใช้เพียงคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต 1 เครื่องต่อเข้ากับโทรทัศน์ เพื่อแสดงข้อมูลให้ทางโรงเรียนสามารถตามตัวเด็กมาทันเวลาที่ผู้ปกครองมาถึง ส่วนเด็กที่มีโทรศัพท์มือถือก็สามารถติดตั้งแอปพลิเคชันสำหรับเด็กไว้ ซึ่งจะส่งสัญญาณเตือนเมื่อผู้ปกครองกำลังเดินทางมาถึงโรงเรียน เด็กจึงสามารถเตรียมตัวขึ้นรถได้ทันที โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องเสียเวลาจอดรถรอนาน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.kidsup.app

  1. รางวัลเหรียญทองแดง ประเภท Private Sector (PRV) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ Timemint จากบริษัท อินเทลสไปร์ จำกัด ผลงานเครื่องตอกบัตรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นระบบที่ให้บริการแอปพลิเคชันสำหรับองค์กรธุรกิจ (Business Solution) เพื่อบันทึกเวลาทำงานของพนักงานประจำแบบยืดหยุ่น คือ ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ (Time Attendance) ผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนหาอุปกรณ์เพิ่มเติม แอปพลิเคชันนี้ถูกประยุกต์ให้ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ สำหรับผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนทั้งในระบบ iOS และ Android รองรับการทำงานนอกสถานที่ โดยบักทึกการเข้า-ออกไซต์งาน งานบริหารการขายและการตลาด โดยบันทึกการเข้าพบลูกค้า ณ สถานที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ระบบยังใช้งานง่าย โดยการใช้ระบุพิกัด GPS ระบุตำแหน่งตอนลงเวลา หากอยู่นอกเหนือพื้นที่ที่กำหนดจะไม่สามารถทำการบันทึกเข้าออกได้ เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต ปฎิวัติการลางานแบบเดิม ๆ ด้วยการขาด ลา มาสาย ผ่านการอนุมัติใบลา ไปยังหัวหน้างานผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกจัดเก็บในระบบCloud และปกป้องข้อมูลเพื่อความเป็นส่วนตัวสูงสุด

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.TimeMint.co

 

 

ดีป้าได้เดินหน้าสนับสนุนผู้พัฒนาดิจิทัลไทยเพื่อแข่งขันในเวทีระดับอาเซียนนี้เป็นเวลาต่อเนื่องมากว่า 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา เพื่อเป็นเวทีในการแสดงความสามารถและศักยภาพในการพัฒนาผลงานด้านดิจิทัลของผู้ประกอบการและนักพัฒนาชาวไทยให้ปรากฎในระดับอาเซียน รวมไปถึงสร้างโอกาสการเชื่อมโยงรวมถึงขยายผลด้านการตลาดให้กับผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพดิจิทัลไทยให้เติบโตไปได้ในระดับนานาชาติอีกด้วย ซึ่งเป็นบทบาทภารกิจสำคัญของดีป้าในการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลให้ก้าวไกลและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ