กฎหมายลิขสิทธิ์ : แนวทางการร่างข้อกำหนดการใช้งานซอฟต์แวร์ (EULA) ตอนที่ 2

ตามที่บทความที่แล้วค้างไว้เรื่องแนวทางการร่างข้อกำหนดการใช้งานซอฟต์แวร์ (EULA) ที่ได้นำ EULA ของ Windows 10 มาเป็นตัวอย่างประกอบการอธิบาย สัปดาห์นี้ก็จะมาเข้าสู่เรื่องสิทธิในการใช้งานที่พึงกำหนดสำหรับการให้ใช้งานซอฟต์แวร์ทั่วไปครับ

การติดตั้งและสิทธิในการใช้

ผู้ใช้นั้นได้รับสิทธิในการใช้ (licensed) มิใช่กรรมสิทธิ์ โดยภายใต้ข้อกำหนดนี้ เราได้ให้สิทธิคุณในการติดตั้งและใช้งานซอฟต์แวร์จำนวนหนึ่งชุดบนอุปกรณ์ของคุณ เพื่อใช้งานโดยบุคคลใดคนหนึ่งในเวลาใด ๆ ตราบเท่าที่คุณได้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติใด ๆ ในข้อกำหนดฉบับนี้ การได้รับการอัพเดทหรืออัพเกรดจากซอฟต์แวร์ที่มิใช่ซอฟต์แวร์ที่ได้รับอนุญาตด้วยซอฟต์แวร์ที่ได้รับจากไมโครซอฟท์ หรือแหล่งที่ได้รับอนุญาตอื่นมิได้ทำให้ซอฟต์แวร์ต้นฉบับของคุณหรือฉบับอัพเดทหรืออัพเกรดของคุณนั้นกลายเป็นฉบับที่ได้รับอนุญาต และในกรณีเช่นว่านั้น คุณไม่ได้รับสิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์นี้

ข้อความสำคัญที่จำเป็นต้องมีนั้นคือผู้ใช้งานนั้นมีสิทธิเหนือซอฟต์แวร์นั้นอย่างไร ซึ่งโดยทั่วไปนั้นจะกำหนดว่าผู้ใช้มีสิทธิในการใช้ (Licensing) มิใช่การได้กรรมสิทธิ์ หรือสิทธิในความเป็นเจ้าของ (Ownership) เนื่องจากในการจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์นั้น ผู้พัฒนายังคงความเป็นเจ้าของหรือมีลิขสิทธิ์เหนือ Source code และผู้ให้ใช้สิทธิ (Licensor) ยังอาจกำหนดข้อกำหนดเพิ่มเติมได้อีกว่าผู้ใช้งานไม่สามารถใช้งานในรูปแบบอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ ตามตัวอย่างดังต่อไปนี้ครับ

ไมโครซอฟท์ขอสงวนสิทธิ์ใด ๆ (รวมถึงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา) ที่มิได้อนุญาตให้แก่ผู้ใช้งานอย่างชัดแจ้งในข้อกำหนดนี้ โดยการอนุญาตใช้งานนี้มิได้อนุญาตให้คุณดำเนินการใด ๆ ดังต่อไปนี้

(ก) ใช้หรือจำลองฟีเจอร์ของซอฟท์แวร์แยกต่างหากจากซอฟท์แวร์

(ข) เผยแพร่ ทำสำเนา (นอกเหนือไปจากการทำสำเนาเพื่อสำรองข้อมูลที่ได้รับอนุญาต) ให้ยืม หรือให้เช่าซอฟท์แวร์

(ค) โอนสิทธิในซอฟท์แวร์ (เว้นแต่ได้รับอนุญาตตามข้อกำหนดนี้)

(ง) หลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางเทคนิคหรือข้อจำกัดใด ๆ ในซอฟท์แวร์

(จ) ใช้ซอฟท์แวร์ในลักษณะของเซิร์ฟเวอร์ เพื่อการโฮสท์ติ้งในเชิงพาณิชย์ อนุญาตให้ผู้ใช้หลายรายสามารถใช้ซอฟท์แวร์ได้พร้อมกันบนเน็ตเวิร์ค ติดตั้งซอฟท์แวร์บนเซิร์ฟเวอร์และอนุญาตให้ผู้ใช้งานเข้าถึงได้จากสถานที่อื่น หรือติดตั้งซอฟท์แวร์บนอุปกรณ์เพื่อใช้สำหรับผู้ใช้ผ่านทางระยะไกลเท่านั้น

(ฉ) ทำวิศวกรรมย้อนกลับ แปลย้อนกลับ หรือแยกส่วนซอฟท์แวร์ หรือพยายามดำเนินการเช่นว่านั้น เว้นแต่และเท่าที่การห้ามดำเนินการเช่นว่านั้น (ก) สามารถทำได้ตามกฎหมายที่ใช้บังคับ หรือ (ข) สามารถทำได้ตามเงื่อนไขการอนุญาตที่ใช้สำหรับบางส่วนที่เป็นส่วนชิ้นงานสาธารณะที่อาจรวมอยู่ในซอฟท์แวร์ หรือ (ค) จำเป็นเพื่อแก้ไขบัคในไลบรารี่ใด ๆ ภายใต้ GNU Lesser General Public License ที่รวมอยู่หรือเชื่อมถึงโดยซอฟท์แวร์ และ

(ช) เมื่อใช้ฟีเจอร์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต คุณไม่สามารถใช้ฟีเจอร์เหล่านั้นเพื่อขัดขวางการใช้งานของบุคคลอื่น หรือพยายามเข้าถึงหรือใช้บริการ ข้อมูล บัญชี หรือเน็ตเวิร์คในวิธีการใด ๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาต

โดยในส่วนสำคัญของข้อจำกัดทั่วไปจะเป็นการห้ามมิให้ผู้ใช้งานทำวิศวกรรมย้อนกลับ แปลย้อนกลับ (decompile) หรือแยกส่วนซอฟท์แวร์ เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพย์สินทางปัญญาของนักพัฒนายังคงได้รับการคุ้มครองครับ ส่วนในข้ออื่น ๆ นั้นสามารถพิจารณาใส่เพิ่มเติมหรือลบทิ้งได้ตามแต่ประเภทของซอฟท์แวร์ โดยมีข้อสังเกตว่าใน EULA ที่ผมยกมานั้นจะเป็นสำหรับ Windows 10 Home edition ที่จะระบุห้ามการใช้งานในลักษณะ Server เอาไว้ครับ

สำหรับบทความถัดไปจะยังคงพูดถึงเรื่อง EULA กันต่อในประเด็น Privacy Notice ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่และสำคัญเมื่อพิจารณาถึงพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ใกล้จะมีผลบังคับใช้ใกล้ ๆ นี้กันนะครับ


ณัฐพล สุรรัตน์รังษี

มีคำถาม? ดรอปอีเมลมาได้ที่ [email protected] นะครับ 

*ข้อเขียนข้างต้นเป็นเพียงการให้ข้อมูลโดยทั่วไปและมิได้เป็นการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย

**บทความนี้อนุญาตให้เผยแพร่ได้ภายใต้สัญญาครีเอทีฟคอมมอนส์แบบแสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน (CC BY-NC-SA)