คุณพิพัฒน์ พิเชฐจำเริญ อุปนายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดโครงการความร่วมมือระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS) และ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

วันที่ 10 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา คุณพิพัฒน์ พิเชฐจำเริญ อุปนายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดโครงการความร่วมมือระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS) และ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

การเปิดงานโดย คุณซันเจย์ แอนดรูว์ โทมัส หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เอไอเอส และ คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมกล่าวถึงความร่วมมือของโครงการนี้ว่าจะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับ Startup ที่จะช่วยให้พาก้าวออกสู่ตลาดโลกได้อย่างถูกต้องและมั่นคงมากยิ่งขึ้น

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือบริษัท Startup พัฒนาแพลตฟอร์มและส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จ ทั้งระบบ Intelligent Cloud ที่สามารถรองรับการทำงาน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ในเวลาช่วงที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากได้อย่างไม่มีขีดจำกัด และการจ่ายเท่าที่ใช้ (Pay per Use) รวมถึง Intelligent Edge ที่จะทำให้เซนเซอร์ทุกจุดสามารถเชื่อมต่อกันด้วยบนเครือข่าย 5G ซึ่งสนับสนุนทั้ง Cloud Computing, IoT, AI, Blockchain และ AR/VR โดย Startup ไม่จำเป็นต้องมีทีมที่คอยดู Data Center ของตัวเอง

นอกจากความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มแล้ว ยังสนับสนุนในด้านการหาลูกค้าและโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เมื่อ Startup ได้เข้ามาร่วม Microsoft และ AIS Community โดย คุณสมศักดิ์ มุกดาวรรณกร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานกลุ่มธุรกิจพันธมิตร ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ยกตัวอย่าง Startup ที่ร่วมโครงการอย่าง อาทิ Buzzebees ที่ทำระบบ Point Redemption ให้กับธนาคารมากมาย และ Hackvax ที่ช่วยจัดการกระบวนการฉัดวัคซีน เป็นต้น โดยหลักเกณฑ์ที่จะเข้าร่วมโครงการนั้นจะต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งมาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 ปี มีรายได้ไม่เกิน 15 ล้านเหรียญ โดยจะได้รับการสนับสนุนเป็น Microsoft Azure 120,000 เหรียญ เป็นเวลา 2 ปี, Microsoft 365, ระบบ CRM, บริการด้านการออกแบบด้าน Infrastructure และให้บริการด้านเทคนิคตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง

ดร.ศรีหทัย พรหมมณี ผู้จัดการด้านเอไอเอส สตาร์ทอัพ กล่าวว่า การจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันจำเป็นที่ต้องขับเคลื่อน Digital Economy โดยจะต้องก้าวทันโลกที่วิ่งไปข้างหน้าตลอดเวลา โดยเสนอสิ่งที่ต้องทำเป็นหลัก 3R ดังนี้ Restructure การเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ Replan ปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และ Reskill พัฒนาทักษะและความรู้ใหม่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริม Startup ทั้งระบบ Infrastructure ที่มีความน่าเชื่อถือสูงหรือแม้กระทั่งการนำใบเสร็จเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ซึ่งแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมี Startup ไทย ที่เป็นตัวอย่างจากโครงการ AIS the Startup อย่างเช่น AppMan ผู้ให้บริการ Intelligent Working Process และระบบ Intelligent Document Processing ระบบการประมวลผลและจัดการเอกสารดิจิทัล และ Zip Event ผู้ให้บริการ Virtual Content ที่เข้ามาจัดงานในรูปแบบออนไลน์เต็มรูปแบบและมีการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานอย่างมาก ซึ่งทั้งสอง Startup นี้จำเป็นที่ต้องทำงานบนเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสูงและรองรับปริมาณผู้ใช้งานมหาศาลตลอดเวลาและเครือข่ายของ Microsoft และ AIS คือ Solution ที่ช่วยสนับสนุนแต่ละโครงการประสบความสำเร็จมาโดยตลอด

หาก Startup ใดสนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครได้ที่ https://thestartup.

สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทยร่วมเป็นหนึ่งในการผลักดันศักยภาพด้านปัญญาประดิษฐ์ของคนไทย

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 นายอิศเรศ ประจิตมุทิตา รักษาการนายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย เป็นตัวแทนสมาคมเข้าร่วม "พิธีแสดงเจตจำนงเข้าร่วมกฎบัตรภาคีปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Thai AI Consortium)" "พิธีเปิดโครงการพัฒนาบุคลากรความสามารถพิเศษด้านปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer)" และ "พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการองค์ความรู้ดิจิทัลการรับรองและพัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ (AI Academy Alliance)" ณ โรงละคอนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในงาน พร้อมด้วยผู้บริหารสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย นำโดย ศ.ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคม ตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา กว่า 70 องค์กร

สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ได้ลงนามคณะผู้ก่อตั้ง AI Academy Alliance ร่วมกับ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย, สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต, เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดย สถาบันวิชาการทีโอที ซึ่งเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นเพื่อจัดการองค์ความรู้ดิจิทัล การรับรองและพัฒนาทักษะ ด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ

ในงานครั้งนี้ มีหน่วยงานเข้าร่วมทั้งสิ้นถึง 73 หน่วยงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานและองค์กรในภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทยพร้อมจะขับเคลื่อนไปสู่สังคมปัญญาประดิษฐ์ โดยจุดประสงค์ของการร่วมมือจากหลายฝ่ายในงานครั้งนี้คือ การพัฒนาบุคลากรของชาติ สร้างทรัพยากรการเรียนรู้ และดำเนินกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้จาก ‘ชุมชนปัญญาประดิษฐ์’ สู่ ‘ระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์’ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านการยกระดับคุณภาพชีวิต การเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน และการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมสากล

depa ร่วมกับ สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย มอบทุนสนับสนุน SMEs รายละ 10,000 บาท!!

 

สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย (TPA) ได้รับมอบให้เป็นหน่วยงานในการดำเนินงานโครงการ depa mini Transformation Voucher พื้นที่ภาคกลาง ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ซึ่งในการนี้ สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทยเล็งเห็นความสําคัญของการสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs อีกทั้งการทำเกิดกลไกหมุนเวียนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และ Digital Provider ของโครงการนั้น จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป

1. วัตถุประสงค์โครงการ

สนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจ
สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่ใช้ในระบบ e-commerce เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลประกอบการทางธุรกิจ
สนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจากผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs เพื่อให้เกิดกลไกหมุนเวียนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

2. รายละเอียดโครงการโดยย่อ

การสนับสนุน SMEs ในรูปแบบเงินให้เปล่า สำหรับการซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการทางเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระกับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะต้องซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการกับผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนเป็น Digital Provider กับ depa เท่านั้น โดยวงเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

รูปแบบการสนับสนุน
เป็นการเบิกค่าใช้จ่ายย้อนหลัง กล่าวคือ SMEs ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องสำรองค่าใช้จ่ายการซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการไปก่อน จากนั้นจึงนำส่งหลักฐานเอกสารตามเงื่อนไขมาเบิกค่าใช้จ่ายย้อนหลัง
การขอรับการสนับสนุน
ผู้สนใจ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนขอรับการสนับสนุนได้ที่ https://voucher.

TPA เปิดตัวโครงการ “SME ไทยและชาวเน็ตร่วมใจ เรียนด้วยได้บุญด้วย” ร่วมช่วย COVID-19

สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย หรือ Thai Programmer Association (TPA) เล็งเห็นถึงผลกระทบของวิกฤตจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการและคนทำงานที่ได้ความเดือดร้อนเป็นจำนวนมากจึงได้ริเริ่มโครงการ “SME ไทยและชาวเน็ตร่วมใจ เรียนด้วยได้บุญด้วย” เพื่อสร้างโอกาสในการหารายได้ และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจาก COVID-19

คุณกฤษฎา เฉลิมสุข นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ริเริ่มโครงการนี้โดยการรวมกลุ่มกับหลากหลายองค์กรชั้นนำของไทย ที่พร้อมจะนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาเผยแพร่ เพื่อช่วยแก้ปัญหา 3 ประการที่สำคัญ ได้แก่ 

ปัญหาการว่างงานของประชาชน
การปรับตัวของ SMEs ในประเทศไทย
ปัญหาการขาดแคลนเงินบริจาคขององค์กรต่าง ๆ

ในปัจจุบัน ธุรกิจ SME มีการขยายตัวทางด้านออนไลน์มากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีในยุคดิจิตอล ทางสมาคมฯ จึงได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น Microsoft Thailand, Kasikorn Business - Technology Group (KBTG) หรือ เมืองไทยประกันชีวิต เพื่อจัดทำคอร์สเรียนออนไลน์ในรูปแบบ Live Streaming ซึ่งดำเนินการสอนโดยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ จากองค์กรชั้นนำในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ

คอร์สเรียนของโครงการ “SME ไทยและชาวเน็ตร่วมใจ เรียนด้วยได้บุญด้วย” มีอะไรบ้าง?

โครงการนี้มีเนื้อหาหลัก 4 ส่วน ได้แก่

Digital Transformation for SME  สำหรับเจ้าของธุรกิจที่สนใจเพิ่มช่องทางการขายบน Digital Platform ต่างๆ และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับยุค Digital รวมถึงมีการแนะนำ Software ต่างๆเพื่อช่วยในการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้พร้อมกับการทำ Digital Transformation
Programming สำหรับผู้ที่สนใจงานเขียนโปรแกรมต่างๆเพื่อนำไปต่อยอดทักษะให้ดียิ่งขึ้นซึ่งทางสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทยได้ยกทัพผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาเป็นจำนวนมากเพื่อส่งเสริมให้ทุกคนได้เรียนรู้กันจุใจกับหลากหลาย Technology เช่น ReactJS, CSS, Python, Could compunting และอื่นๆอีกมากมาย ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเตรียมพร้อมกับสายงานนี้ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการสูงมากของตลาด
Digital Marketing สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้และเข้าใจกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ เพื่อนำไปปรับใช้ในธุรกิจ รวมถึงการใช้ Marketing tool ต่างๆ และการเขียน Content Marketing เพื่อเพิ่มยอดขายในช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะ Social Media และ E-commerce
Personal Development สำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ เช่น การฝึกทักษะการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ การบริหารทางการเงิน และการเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมพร้อมทำงาน

ซึ่งในเนื้อหาหลักแต่ละอย่าง ทางสมาคมฯ ได้จัดเตรียมคอร์สเรียนจำนวนมาก มาให้ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนได้เรียนรู้พร้อมกับมีการมอบใบ Certificate ร่วมกับองค์กรชั้นนำให้กับผู้ที่เรียนครบผ่านตามเงื่อนไข ส่วนนี้รอติดตามคอร์สเรียนต่างๆได้ที่ Facebook Page ของสมาคมฯได้เลย

ทางสมาคมฯ ต้องการให้โครงการนี้สามารถเข้าถึงได้กับคนทุกระดับ และทุกสายอาชีพ ผู้ที่สนใจโครงการนี้ สามารถเข้าร่วมได้ง่ายๆ โดยการบริจาคเงินเริ่มต้นที่เท่าไรก็ได้ ต่อหนึ่งคอร์สเรียน ซึ่งมีสิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกกับทางสมาคมฯ จะสามารถพูดคุยเพื่อปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญได้ 1 วัน โดยเงินบริจาคทั้งหมด จะนำไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19

นอกจากผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ในโครงการนี้แล้ว ทางสมาคมฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่งหากมีองค์กรที่สนใจจะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “SME ไทยและชาวเน็ตร่วมใจ เรียนด้วยได้บุญด้วย” ทั้งในด้านการให้ความรู้ และการสนับสนุนในด้านต่างๆ
หลักสูตรทั้งหมดสามารถดูได้ที่ : กดดูที่นี่

วิธีการลงทะเบียนเรียน
** ง่ายๆ เพียงทำตาม ขั้นตอนเหล่านี้ให้ครบ จะไม่สับสน "เลือก Course, เลือกสถานที่บริจาค, โอนเงิน, upload slip + ยืนยัน Course + รอรับ link เข้าเรียน "

ทำการดูหลักสูตรทั้งหมดที่นี่ เพื่อทำการดูหลักสูตรที่สนใจ จากนั้น จำชื่อหลักสูตรไว้ในใจ หรือจดไว้ พร้อมทั้งคำนวนยอดเงินทั้งหมดที่ต้องการบริจาค เช่น ถ้าต้องการเรียน 3 วัน อยากอยากบริจาคคอร์สละ 100 ต้องบริจาค 3x100 = 300 บาท
ดูโครงการทั้งหมดที่ต้องการระดมทุน ที่นี่
กดปุ่ม Donate เพื่อเลือกโครงการที่ต้องการระดมทุน และทำการกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน และยืนยัน การบริจาค

จากนั้น จะได้รับ id ของการบริจาค ให้ทำการจำตัวเลขนี้เก็บไว้ เช่น #7140

ไปที่ เมนู "แจ้งโอนบริจาค" หรือ click ที่นี่
ที่บริเวณรายการสั่งซื้อ

ให้เลือก id ของการบริจาค ที่ได้รับจากข้อ 3A
ให้เลือก course ที่ต้องการลง ไว้ (ถ้าต้องการลงทะเบียนหลาย Course สามารถติ๊กเลือกได้หลายๆ ครั้ง)
จากนั้นกรอกข้อมูลอื่นๆ ให้ครบถ้วน แล้วกด "ส่งข้อมูล"

เป็นอันเสร็จสิ้น รอทีมงานส่ง Email ยืนยัน link ในการเข้าเรียน ไปยัง Email ที่ท่านได้แจ้งเอาไว้ (ทีมจะส่งให้อย่างน้อย 3 วันก่อนวันเริ่มเรียน)

 

-----------------------------------------------------------------------------------------

สามารถเข้าไปดูรายละเอียดโครงการและติดตามข่าวสารต่าง ๆได้ที่

Line @ สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ( @thaiprogrammer )
https://www.

กฎหมายลิขสิทธิ์ : แนวทางการร่างข้อกำหนดการใช้งานซอฟต์แวร์ (EULA) ตอนที่ 2

ตามที่บทความที่แล้วค้างไว้เรื่องแนวทางการร่างข้อกำหนดการใช้งานซอฟต์แวร์ (EULA) ที่ได้นำ EULA ของ Windows 10 มาเป็นตัวอย่างประกอบการอธิบาย สัปดาห์นี้ก็จะมาเข้าสู่เรื่องสิทธิในการใช้งานที่พึงกำหนดสำหรับการให้ใช้งานซอฟต์แวร์ทั่วไปครับ

การติดตั้งและสิทธิในการใช้

ผู้ใช้นั้นได้รับสิทธิในการใช้ (licensed) มิใช่กรรมสิทธิ์ โดยภายใต้ข้อกำหนดนี้ เราได้ให้สิทธิคุณในการติดตั้งและใช้งานซอฟต์แวร์จำนวนหนึ่งชุดบนอุปกรณ์ของคุณ เพื่อใช้งานโดยบุคคลใดคนหนึ่งในเวลาใด ๆ ตราบเท่าที่คุณได้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติใด ๆ ในข้อกำหนดฉบับนี้ การได้รับการอัพเดทหรืออัพเกรดจากซอฟต์แวร์ที่มิใช่ซอฟต์แวร์ที่ได้รับอนุญาตด้วยซอฟต์แวร์ที่ได้รับจากไมโครซอฟท์ หรือแหล่งที่ได้รับอนุญาตอื่นมิได้ทำให้ซอฟต์แวร์ต้นฉบับของคุณหรือฉบับอัพเดทหรืออัพเกรดของคุณนั้นกลายเป็นฉบับที่ได้รับอนุญาต และในกรณีเช่นว่านั้น คุณไม่ได้รับสิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์นี้

ข้อความสำคัญที่จำเป็นต้องมีนั้นคือผู้ใช้งานนั้นมีสิทธิเหนือซอฟต์แวร์นั้นอย่างไร ซึ่งโดยทั่วไปนั้นจะกำหนดว่าผู้ใช้มีสิทธิในการใช้ (Licensing) มิใช่การได้กรรมสิทธิ์ หรือสิทธิในความเป็นเจ้าของ (Ownership) เนื่องจากในการจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์นั้น ผู้พัฒนายังคงความเป็นเจ้าของหรือมีลิขสิทธิ์เหนือ Source code และผู้ให้ใช้สิทธิ (Licensor) ยังอาจกำหนดข้อกำหนดเพิ่มเติมได้อีกว่าผู้ใช้งานไม่สามารถใช้งานในรูปแบบอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ ตามตัวอย่างดังต่อไปนี้ครับ

ไมโครซอฟท์ขอสงวนสิทธิ์ใด ๆ (รวมถึงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา) ที่มิได้อนุญาตให้แก่ผู้ใช้งานอย่างชัดแจ้งในข้อกำหนดนี้ โดยการอนุญาตใช้งานนี้มิได้อนุญาตให้คุณดำเนินการใด ๆ ดังต่อไปนี้

(ก) ใช้หรือจำลองฟีเจอร์ของซอฟท์แวร์แยกต่างหากจากซอฟท์แวร์

(ข) เผยแพร่ ทำสำเนา (นอกเหนือไปจากการทำสำเนาเพื่อสำรองข้อมูลที่ได้รับอนุญาต) ให้ยืม หรือให้เช่าซอฟท์แวร์

(ค) โอนสิทธิในซอฟท์แวร์ (เว้นแต่ได้รับอนุญาตตามข้อกำหนดนี้)

(ง) หลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางเทคนิคหรือข้อจำกัดใด ๆ ในซอฟท์แวร์

(จ) ใช้ซอฟท์แวร์ในลักษณะของเซิร์ฟเวอร์ เพื่อการโฮสท์ติ้งในเชิงพาณิชย์ อนุญาตให้ผู้ใช้หลายรายสามารถใช้ซอฟท์แวร์ได้พร้อมกันบนเน็ตเวิร์ค ติดตั้งซอฟท์แวร์บนเซิร์ฟเวอร์และอนุญาตให้ผู้ใช้งานเข้าถึงได้จากสถานที่อื่น หรือติดตั้งซอฟท์แวร์บนอุปกรณ์เพื่อใช้สำหรับผู้ใช้ผ่านทางระยะไกลเท่านั้น

(ฉ) ทำวิศวกรรมย้อนกลับ แปลย้อนกลับ หรือแยกส่วนซอฟท์แวร์ หรือพยายามดำเนินการเช่นว่านั้น เว้นแต่และเท่าที่การห้ามดำเนินการเช่นว่านั้น (ก) สามารถทำได้ตามกฎหมายที่ใช้บังคับ หรือ (ข) สามารถทำได้ตามเงื่อนไขการอนุญาตที่ใช้สำหรับบางส่วนที่เป็นส่วนชิ้นงานสาธารณะที่อาจรวมอยู่ในซอฟท์แวร์ หรือ (ค) จำเป็นเพื่อแก้ไขบัคในไลบรารี่ใด ๆ ภายใต้ GNU Lesser General Public License ที่รวมอยู่หรือเชื่อมถึงโดยซอฟท์แวร์ และ

(ช) เมื่อใช้ฟีเจอร์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต คุณไม่สามารถใช้ฟีเจอร์เหล่านั้นเพื่อขัดขวางการใช้งานของบุคคลอื่น หรือพยายามเข้าถึงหรือใช้บริการ ข้อมูล บัญชี หรือเน็ตเวิร์คในวิธีการใด ๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาต

โดยในส่วนสำคัญของข้อจำกัดทั่วไปจะเป็นการห้ามมิให้ผู้ใช้งานทำวิศวกรรมย้อนกลับ แปลย้อนกลับ (decompile) หรือแยกส่วนซอฟท์แวร์ เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพย์สินทางปัญญาของนักพัฒนายังคงได้รับการคุ้มครองครับ ส่วนในข้ออื่น ๆ นั้นสามารถพิจารณาใส่เพิ่มเติมหรือลบทิ้งได้ตามแต่ประเภทของซอฟท์แวร์ โดยมีข้อสังเกตว่าใน EULA ที่ผมยกมานั้นจะเป็นสำหรับ Windows 10 Home edition ที่จะระบุห้ามการใช้งานในลักษณะ Server เอาไว้ครับ

สำหรับบทความถัดไปจะยังคงพูดถึงเรื่อง EULA กันต่อในประเด็น Privacy Notice ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่และสำคัญเมื่อพิจารณาถึงพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ใกล้จะมีผลบังคับใช้ใกล้ ๆ นี้กันนะครับ

ณัฐพล สุรรัตน์รังษี

มีคำถาม? ดรอปอีเมลมาได้ที่ nattapon.

กฎหมายลิขสิทธิ์ : แนวทางการร่างข้อกำหนดการใช้งานซอฟต์แวร์ (EULA) ตอนที่ 1

ในการใช้งานซอฟต์แวร์โดยทั่วไป ทุกคนน่าจะเคยผ่านตาข้อกำหนดการใช้งานซอฟต์แวร์ หรือ End User License Agreement (EULA) ที่เด้งขึ้นมาตอนเราติดตั้งโปรแกรมใช่ไหมล่ะครับ วันนี้เลยจะมาขอบอกเล่าแนวทางในการร่างข้อกำหนดการใช้งานซอฟต์แวร์สำหรับการใช้งานทั่วไปให้ได้อ่านกันครับ

EULA เป็นข้อตกลงที่มีผลบังคับตามกฎหมายระหว่างผู้เผยแพร่ซอฟต์แวร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนาหรือผู้จัดจำหน่ายก็ตาม กับผู้ใช้งาน หรือบางคนอาจจะใช้เป็นคำว่า “ข้อกำหนดและเงื่อนไข (Terms and Conditions)” หรือ “ข้อกำหนดการใช้งาน (Terms of Use)” ก็ตามแต่จะเรียก ซึ่งหัวใจหลักยังคงเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ (หรือความเชื่อมโยงตามกฎหมาย) ซึ่งในบทความนี้ก็จะนำ EULA ของ Windows 10 มาชำแหละให้ดูกันว่าประเด็นที่ Microsoft ระบุไว้ใน EULA มีอะไรบ้าง โดยจะคัดเฉพาะข้อความที่น่าสนใจมาแปลให้ดูกันครับ

บทนำ 

โดยการยอมรับหรือใช้งานซอฟต์แวร์ คุณได้ตกลงยอมรับข้อกำหนดทั้งหลายและยินยอมให้มีการส่งต่อข้อมูลบางอย่างในระหว่างการเปิดใช้งานและการใช้งานซอฟต์แวร์ตามที่ได้ระบุเอาไว้ หากคุณไม่ยอมรับหรือปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ คุณอาจไม่สามารถใช้งานซอฟต์แวร์หรือฟีเจอร์ได้

ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่ใช้ก่อตั้งข้อสันนิษฐานในกรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้น เนื่องจาก EULA โดยสภาพแล้วจะเป็นเพียงหน้าต่าง Pop-up ขึ้นมาให้ผู้ใช้งานกดยอมรับ หรืออาจจะเป็นเพียงลิงค์นำทางไปยังข้อกำหนดฉบับเต็มก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ใช้งานจะต้องเห็นและกดยอมรับก่อนเปิดใช้งานเป็นอย่างช้า เพื่อให้ข้อกำหนดนี้มีผลผูกพันนั่นเองครับ ทางผู้อ่านสามารถใช้ข้อความข้างต้นเลยก็ได้ หรือจะปรับแก้ข้อความให้เป็นมิตรกับผู้อ่านเพิ่มอีกก็ได้เช่นกัน

ขอบเขตการบังคับใช้

ข้อตกลงฉบับนี้ใช้บังคับกับซอฟต์แวร์ Windows ที่ได้ติดตั้งในอุปกรณ์ของคุณตั้งแต่ในขั้นตอนการผลิต หรือได้รับจากผู้จัดจำหน่ายและติดตั้งโดยคุณ หรือสื่อใด ๆ ที่คุณได้รับซอฟต์แวร์นี้ด้วย และให้ใช้บังคับกับฟอนท์ ไอคอน ภาพ หรือเสียงใด ๆ ที่รวมมากับซอฟต์แวร์นี้ และรวมถึงอัพเดท อัพเกรด ส่วนขยาย หรือบริการของซอฟต์แวร์ เว้นแต่จะมีข้อกำหนดเป็นการเฉพาะ

ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ไว้ใช้ระบุว่าข้อกำหนดและเงื่อนไขนี้ใช้บังคับกับซอฟต์แวร์ หรือฟีเจอร์ใดบ้าง สำหรับในบางกรณีที่เรามีทั้งส่วนที่ให้บริการฟรี และส่วนที่คิดค่าบริการ ซึ่งของ Windows นั้นกำหนดขอบเขตไว้เป็น Windows OS ทั้งหมดนั่นเอง และโดยเฉพาะส่วนอัพเดท อัพเกรด ส่วนขยาย หรือบริการอื่น ๆ (หรือฟีเจอร์) ที่เราอาจจัดทำเพิ่มในอนาคต เป็นสิ่งที่ควรระบุไว้เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องกดยอมรับหรือเปิดใช้งานทุกครั้งนั่นเองครับ

บทความถัดไปจะยังคงพูดถึงเรื่อง EULA โดยอ้างอิงจาก EULA ของ Windows 10 ในประเด็นการอนุญาตให้ใช้และสิทธิในการใช้งานกันต่อ รอติดตามนะครับ

ณัฐพล สุรรัตน์รังษี

มีคำถาม? ดรอปอีเมลมาได้ที่ nattapon.

กฎหมายลิขสิทธิ์ : แนวทางการร่างข้อสัญญาลิขสิทธิ์เกี่ยวกับการจ้างงาน

ดังที่ได้กล่าวถึงในบทความก่อนหน้าเรื่องการจัดการลิขสิทธิ์ในงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาระหว่างการทำงาน โดยที่กฎหมายได้บัญญัติข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเอาไว้แตกต่างกันในการจัดการลิขสิทธิ์ระหว่าง “นายจ้างกับลูกจ้าง” และ “ผู้รับจ้างกับผู้ว่าจ้าง” ในบทความนี้จึงจะขอพูดถึงในกรณีที่เราประสงค์จะตกลงกันเอาไว้เป็นอย่างอื่นนั่นเองครับ

ย้อนทบทวนกันนิดหนึ่ง ข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ได้กำหนดเอาไว้ว่า งานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นตกเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำbqงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีที่นายจ้างประสงค์ที่จะเป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์ด้วย นายจ้างอาจกำหนดไว้ในสัญญาจ้างไว้เป็นข้อความประมาณนี้

สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

ลูกจ้างตกลงว่านายจ้างมีสิทธิ หรือจะมีสิทธิเหนือทรัพย์สินทางปัญญาใด ๆ (ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาใด ๆ) ที่ลูกจ้างได้ประพันธ์ สร้างขึ้น หรือได้จัดทำขึ้น ในระหว่างที่ลูกจ้างถูกจ้างภายใต้สัญญาจ้างงาน และมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของนายจ้าง หรือมีความเกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาของนายจ้าง หรือได้พัฒนาขึ้นในเวลางาน หรือได้มีการใช้อุปกรณ์ สิ่งของ สถานที่ หรือข้อมูลความลับของนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างตกลงที่จะแจ้งให้นายจ้างทราบถึงทรัพย์สินทางปัญญาใด ๆ ที่ได้เกิดขึ้นต่อนายจ้างในทันทีที่ได้ทราบถึงทรัพย์สินทางปัญญานั้น และลูกจ้างตกลงที่จะดำเนินการใด ๆ เพื่อให้นายจ้างมีสิทธิและสามารถได้รับประโยชน์ทั้งสิ้นในทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้น

ตัวอย่างข้างต้นนั้นค่อนข้างมีความเป็นกลาง เนื่องจากยังคงแบ่งขอบเขตไว้ชัดว่าทรัพย์สินทางปัญญาใดที่จะตกเป็นของนายจ้าง ดังนั้นในกรณีที่ลูกจ้างสร้างสรรค์งานขึ้นมาโดยมิได้อาศัยทรัพยากรใด ๆ ของนายจ้าง ลิขสิทธิ์ก็ยังคงตกเป็นของลูกจ้างอยู่ อย่างไรก็ตามนายจ้างอาจปรับแก้ข้อความดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมกรณีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือหากว่าเห็นว่าการกำหนดข้อความดังกล่าวไว้จะสร้างความคลุมเครือและกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของนายจ้าง อาจพิจารณาตัดข้อความที่ขีดเส้นใต้ออกทั้งหมดก็สามารถทำได้

แต่ตัวอย่างข้างต้นนั้นก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบกับขวัญและกำลังใจของลูกจ้างในการสร้างสรรค์ผลงานได้ ดังนั้นสำหรับนายจ้างอาจจะพิจารณาปรับเป็นการขอซื้อลิขสิทธิ์เป็นรายกรณี ก็สามารถทำได้ เพื่อให้ลูกจ้างเกิดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้นายจ้างเลือกสรรมากขึ้น ตามตัวอย่างด้านล่าง

ในกรณีที่ลูกจ้างได้จัดทำงานสร้างสรรค์อันอาจมีลิขสิทธิ์หรือก่อให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นใดในระหว่างที่ลูกจ้างถูกจ้างภายใต้สัญญาจ้างงาน ให้นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ เว้นแต่ในกรณีที่นายจ้างประสงค์ที่จะได้ลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์นั้น ให้นายจ้างสามารถจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในนโยบายการบริหารจัดการลิขสิทธิ์ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น และลูกจ้างตกลงที่จะโอนสิทธิในทรัพย์สินปัญญาทั้งหลายนั้นให้แก่นายจ้างเมื่อนายจ้างได้แสดงความประสงค์เช่นว่านั้น

การจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ในแต่ละรูปแบบนั้นต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นนายจ้างควรพิจารณาวัฒนธรรมองค์กรที่ปรารถนา รวมถึงวิสัยทัศน์และคุณค่าที่องค์กรยึดถือ เนื่องจากจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างนั้นเกิดขึ้นจากสัญญาจ้างงานเป็นอันดับแรกนั่นเองครับ

ณัฐพล สุรรัตน์รังษี

มีคำถาม? ดรอปอีเมลมาได้ที่ nattapon.

กฎหมายลิขสิทธิ์ : สิทธิของผู้รับจ้าง

ในการทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับงานสร้างสรรค์อันอาจมีลิขสิทธิ์ได้ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ สิ่งสำคัญที่ต้องมีความชัดเจนเสมอคือการการจัดการ “ลิขสิทธิ์” ในบรรดางานทั้งหลายที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาในระหว่างการทำงาน เพื่อเลี่ยงข้อพิพาทที่อาจมีขึ้นในภายหลังระหว่างนายจ้างลูกจ้าง โดยกฎหมายลิขสิทธิ์ได้กำหนดข้อสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ในกรณีที่ไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นพิเศษดังนี้

ในกรณีการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง (พนักงานประจำนั่นเอง) มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ได้กำหนดเอาไว้ดังนี้

“งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น”

ที่กฎหมายกำหนดข้อสันนิษฐานไว้ว่าให้ลิขสิทธิ์ตกเป็นของพนักงาน แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นไปเผยแพร่ ก็เนื่องจากพฤติการณ์โดยทั่วไปของการจ้างแรงงานที่นายจ้างมักจะมีอำนาจบังคับบัญชา รวมถึงเป็นผู้กำหนดให้ลูกจ้างปฏิบัติงานให้สำเร็จ ทำให้ในความเป็นจริงแล้วลูกจ้างมีโอกาสน้อยมากที่จะสร้างงานสร้างสรรค์ขึ้นในระหว่างการจ้างงาน เนื่องจากโดยหลักแล้วเป็นเพียงผู้ปฏิบัติงานตามคำสั่งเท่านั้น กฎหมายจึงสันนิษฐานให้งานอันมีลิขสิทธิ์ตกเป็นของลูกจ้างไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วนายจ้างก็จะกำหนดไว้ในสัญญาจ้างเอาไว้ว่า หากเป็นงานสร้างสรรค์ที่ได้จัดทำขึ้นในเวลางาน หรือได้ใช้ทรัพยากร องค์ความรู้ หรือข้อมูลใด ๆ ขององค์กร ให้ลิขสิทธิ์ในงานทั้งหลายนั้นตกเป็นของนายจ้าง เนื่องจากบางงานโดยสภาพนั้นลูกจ้างสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง เช่น กราฟฟิกดีไซน์เนอร์หรือโปรแกรมเมอร์ต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นต่อไปได้

ในกรณีการสร้างสรรค์ผลงานในฐานะผู้รับจ้าง มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ได้กำหนดเอาไว้ว่า

“งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น”

ที่กฎหมายกำหนดข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเอาไว้ว่า ถ้าเป็นกรณีของการรับจ้างแล้ว ให้ลิขสิทธิ์ตกเป็นของผู้ว่าจ้างนั้น ก็เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติการณ์ทั่วไปของการรับจ้างที่นายจ้างไม่ได้ต้องการอำนาจบังคับบัญชา แต่ต้องการผลสำเร็จของงานหรือผลงาน จึงได้มาจ้างผู้รับจ้าง

อย่างไรก็ดี กฎหมายก็ได้เปิดช่องให้ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นได้ เช่นบริษัทอาจจะอยากจ้างผู้ให้บริการ SaaS ให้พัฒนาฟีเจอร์เฉพาะให้แก่บริษัท ซึ่งทางผู้ให้บริการก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีกับบริการของตัวเองจึงตกลงรับพัฒนาให้ แต่บรรดา Source Code ทั้งหมดนั้นอยากให้คงไว้เป็นสิทธิของผู้ให้บริการ ในกรณีนี้ก็สามารถตกลงกันในรายละเอียดได้ ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

ทุกคนลองกลับไปสำรวจดูกันนะครับว่าตามสัญญาปัจจุบันมีการกำหนดสิทธิเอาไว้เป็นอย่างไร ชัดเจนพอหรือไม่ ตรงกับความเข้าใจของเราหรือเปล่า ซึ่งถ้าได้ตกลงกันไว้ชัดเจนตั้งแต่วันนี้จะเป็นการหลีกเลี่ยงข้อพิพาทที่เกิดขึ้นภายหลังได้ครับ

ณัฐพล สุรรัตน์รังษี

มีคำถาม? ดรอปอีเมลมาได้ที่ nattapon.