Programmer Interview by สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ตอนที่ 7 –ดร.กานต์ อุ่ยวิรัช

  1. ช่วยกรุณาแนะนำตัวคร่าวๆให้พวกเรารู้จักด้วยครับ (ชื่อ ครอบครัว การศึกษา การทำงาน)

สวัสดีครับ กานต์ อุ่ยวิรัช (กานต์) เรียนจบปริญญาเอกสาขา Computer Science ทำวิจัยแนว Computer Vision & Machine Learning จาก Asian Institute of Technology (AIT) มาครับ เรียนมารวดเดียวตั้งแต่ปริญญาตรียันเอก ตอนนี้ทำงานในตำแหน่ง Research & Development Engineer ที่บริษัท Pronto Tools ทำตั้งแต่พัฒนาซอฟต์แวร์ ทดสอบผลิตภัณฑ์ ช่วยดูแลส่วน infrastructure จัดการข้อมูล จนไปถึงวิจัยสิ่งใหม่ๆ มาใช้ในทีม

มีเว็บไซต์ส่วนตัวเอาไว้เขียนเล่น แล้วก็มาเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับโปรแกรมเมอร์ที่บล็อกของสมาคมปรแกรมเมอร์ครับ

  1. ทำไมถึงมีความชอบทางด้านโปรแกรมมิ่ง อะไรเป็นจุดเริ่มต้นหรือแรงบันดาลใจ

จุดเริ่มต้นจริงๆ น่าจะเป็นตอนทำโปรเจคในวิชาหนึ่งตอนปี 3 (ปริญญาตรี) ตอนนั้นทำเว็บจองตั๋วหนัง ได้ลองทำขึ้นมาเอง แล้วก็มีเพื่อนคอยช่วยแนะนำ ว่าตรงจุดนี้ทำอย่างไร ตรงนั้นควรทำแบบนี้ดีกว่า อะไรแบบนี้ รู้สึกว่าสนุกมากครับ แล้วก็เริ่มชอบเขียนเว็บมาตั้งแต่ตอนนั้น ยิ่งทำโปรเจคจบตอนปี 4 ก็ชอบเขียนโปรแกรมมากขึ้น โค้ดทั้งหมดเขียนขึ้นมาเองจากการอ่านเปเปอร์ จากนั้นมาเริ่มรู้สึกได้ว่าถ้าเราเขียนโปรแกรมเป็น จริงๆ แล้วเราสามารถจะเอาไปทำอะไรได้อีกเยอะมาก แทบไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย

  1. คุณมีหลักการในการพัฒนาตนเองอย่างไรถึงได้ประสบความสำเร็จในสายงานนี้

ผมใช้หลักประมาณว่า “หาสิ่งใหม่ ลงมือทำซ้ำ เปลี่ยนแนวคิด และแบ่งปัน” เป็นตัวช่วยพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในแต่ละวัน สายงานเทคโนโลยีเป็นสายงานที่ไปเร็วมาก ไม่เคยหยุดนิ่งเลย การที่เราสามารถถีบตัวเองให้ stay on top ได้ การพัฒนาตัวเองจะไปไวมากครับ

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือเรื่อง Fundamentals ครับ เทคโนโลยีเกือบทุกอย่างถูกพัฒนาต่อยอดจากจุดนี้ ถ้าเราจับแนวคิดได้ เชื่อมโยงองค์ความรู้ของเราได้ ตรงนี้จะสามารถช่วยได้เยอะเลยครับ

  1. ในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่าน เล่นเทคโนโลยี หรือ library อะไรอยู่ ช่วยแนะนำคร่าวๆให้ชาวโปรแกรมเมอร์ได้มั้ยครับ

หลักๆ ของผมจะเป็น Django ครับ เป็นเว็บเฟรมเวิร์คที่พัฒนาโดยใช้ภาษา Python เริ่มต้นอาจจะติดขัดเล็กน้อย แต่ถ้าเขียนเป็นเมื่อไหร่นี่อยากทำเว็บแบบไหนก็ไม่มีปัญหาครับ ตัวต่อไปคือ Airflow ครับ เป็น Workflow Management ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เขียนด้วย Python เช่นกัน เนื่องด้วยผมกำลังทำพวก Data Engineering ที่บริษัท Airflow นี่ผมยกให้เป็นพระเอกของงานเลย ส่วนเทคโนโลยีที่เล็งตัวต่อไปคือ Apache Spark ครับ ว่าจะเอามาต่อยอดเรื่องของการทำ Data Analytics

  1. ช่วยแชร์ประสบการณ์ทำงานโปรเจคต่างๆหน่อยครับ โปรเจคที่ยากที่สุดที่เคยทำมาคืออะไร และยากที่จุดไหน

ณ เวลานี้ โปรเจคที่ยากที่สุด จริงๆ อยากจะเรียกว่าเป็นโปรเจคที่ท้าทายที่สุดนะครับ นั่นคือการวาง Data Infrastructure (ที่ Scable) และการ Open Data ในบริษัท เพราะ? เป็นโปรเจคที่เริ่มคิดเองตั้งแต่ต้น ทำเองตั้งแต่ต้น เจ็บเองตั้งแต่ต้น ไม่มีอะไรท้าทายไปมากกว่านี้แล้ว 🙂

  1. โปรเจคที่ภูมิใจที่สุดที่เคยทำมาคืออะไร และเพราะอะไรถึงภูมิใจที่สุด

ภูมิใจทุกโปรเจคนะครับ มีส่วนร่วมในทุกๆ โปรเจค ขอตอบเผื่ออนาคตด้วยละกันว่าโปรเจคในข้อ 5 (ข้อที่แล้ว) จะกลายเป็นโปรเจคที่จะภูมิในที่สุด เพราะได้คิดเอง เริ่มต้นเอง ถ้าทำได้ในถึงระดับหนึ่งเมื่อไหร่ มันจะมี impact ที่สูงมากต่อบริษัท

  1. คุณมีโปรแกรมเมอร์ที่เป็นไอดอลในใจมั้ยครับ ถ้ามีคือใคร และเพราอะไร

มีครับ พี่ Mark Zuck แห่ง Facebook ครับผม พี่ Mark เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นคนที่มุ่งมั่น เป็นคนที่ทำอะไรแล้วทำได้จริง สุดยอดจริงๆ

  1. มาถึงเรื่องการทำงานในองค์กรกันบ้าง วัฒนธรรมองค์กรในฝันของคุณเป็นอย่างไร

ฝันของผมเป็นจริงไปแล้วครับ วัฒนธรรมในทีม ในบริษัท เป็นแบบที่ผมฝันถึง เรามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เดียวกัน เราทำงานกันเป็นทีม เราอยู่กันแบบสนิทกัน มี Work-Life Balance บรรยากาศการทำงานดี พูดง่ายๆ สั้นๆ ว่าที่ Pronto นี่คือ “บ้าน” ผมอีกหลังครับ

  1. ช่วยให้คำแนะนำสำหรับ novice ที่ไม่เคยเขียนโปรแกรมมาก่อนและสนใจจะเข้ามาในวงนี้หน่อยครับ ว่าจะต้องวางตัวอย่างไร คุณสมบัติอะไรที่ควรมี ถึงจะทำให้ประสบความสำเร็จในวงการนี้ได้

ถ้าไม่เคยเขียนโปรแกรมมาก่อน แนะนำให้เริ่มต้นด้วย Python ครับ เป็นภาษาที่เหมาะมากสำหรับมือใหม่ แล้วค่อยๆ ต่อยอดไปเรื่อยๆ ครับ คอร์สเรียนออนไลน์มีเยอะมาก สามารถเริ่มศึกษาด้วยตัวเองได้เลย

เรื่องการวางตัวที่อยากแนะนำอาจจะเป็นเรื่องการตั้งคำถามครับ ผมคิดว่าน่าจะเหมือนกันทุกสายอาชีพ คือไม่ควรตั้งคำถามออกแนวจะเอาไปตอบการบ้าน หรือว่าตอบข้อสอบครับผม จริงๆ มันก็ยากเหมือนกันนะ ถ้าจำเป็นต้องตั้งคำถามประมาณนี้จริงๆ อยากให้ไปลองหาจาก Google หรือตาม Stack Overflow ดูก่อนครับ ฝึกอ่านภาษาอังกฤษเยอะๆ

เรื่องคุณสมบัตินี่ผมมองว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใคร จะเก่งหรือไม่เก่ง ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จในวงการนี้ได้ทุกคนครับ มีความตั้งใจ ขยันหาความรู้ เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ

  1. และอีกกลุ่มนึงครับสำหรับกลุ่มโปรแกรมเมอร์ที่พอมีพื้นฐานแล้วอยากจะ raise the bar ของตัวเองไปอีกควรจะต้องทำตัวอย่างไร

ลองทำจริงเลยครับ พัฒนาสิ่งที่แก้ปัญหาให้ตัวเราเองได้ (เริ่มมองปัญหาที่ตัวเองเจอก่อน) ไม่ต้องสนใจเลยครับว่าจะมีใครทำมาก่อนหรือไม่ มันคือการ raise the bar ของตัวเองครับ แล้วก็อะไรที่ทำแล้วเราแบ่งปันให้คนอื่นก็จะเป็นการช่วยหล่อหลอมความคิดของเราไปด้วย เวลาที่ผมอยากจะเรียนรู้อะไรผมจะทำแล้วเก็บไว้ใน GitHub ของผมครับ เพราะผมเชื่อว่าผมไม่ใช่คนเดียวในโลกที่ชอบในสิ่งๆ นั้น

  1. สำหรับเรื่องการพัฒนาตนเอง พอจะแนะนำหนังสือทางด้านโปรแกรมมิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ และควรต้องอ่านให้แก่ชาวโปรแกรมเมอร์ได้มั้ยครับ

หนังสือที่ควรซื้อมาอ่านที่ผมแนะนำคือ Clean Code ครับ แล้วก็ Agile Software Development, Principles, Patterns, and Practices ซึ่งเล่มแรกจะออกแนวการเขียนโค้ดให้ดี ดูแลรักษาง่าย อะไรประมาณนั้น ส่วนเล่มที่ 2 จะออกแนวการปฏิบัติในการพัฒนาซอฟต์แวร์ครับ

แล้วก็นอกนั้นผมจะตามอ่านจากบทความของคนดังๆ ต่างๆ แล้วก็ตาม YouTube ชอบใครคนไหนก็ลองไปตามดูครับ ยกตัวอย่างเช่น Martin Fowler หรือไม่ก็ David Heinemeier Hansson ครับ

ส่วนเว็บที่ชาวโปรแกรมเมอร์ควรเปิดดู เปิดอ่านทุกวันคือ Hacker News ครับ แนะนำ!

  1. คำถามนี้ขำๆ นะครับ หากไม่เขียนโปรแกรมจะไปประกอบอาชีพอะไร

อาจจะไปเป็นวิทยากรสอนอะไรสักอย่างมั้งครับ ไม่ก็ไปช่วยพ่อทำโรงน้ำแข็ง 😛

  1. อยากให้วงการโปรแกรมเมอร์ไทยเป็นอย่างไรในตอนนี้และในอนาคต

อยากให้เป็นสังคมของการช่วยเหลือแบ่งปันกันครับ อย่างที่ USA จะเห็นได้ว่ามีสังคมแบบนี้เยอะมาก เขาสนับสนุนผู้เริ่มต้นใหม่ค่อนข้างดี

  1. และคำถามสุดท้ายครับ อยากจะฝากอะไรส่งท้ายแก่ผู้อ่านครับ

ขอบคุณสำหรับคนที่อ่านมาถึงตรงนี้นะครับ อยากเป็นกำลังใจให้ แล้วก็อยากเชิญมาร่วมสร้างสังคมโปรแกรมเมอร์ในเมืองไทยให้น่าอยู่มากขึ้นและมากขึ้นไปอีก 🙂

สุดท้ายจริงๆ ขอฝากบทความ Pronto Tools พวกเราทำอะไร? ไว้ด้วยนะครับ


Leave a comment!

You must be logged in to post a comment.