กฎหมายลิขสิทธิ์ : แนวทางการร่างข้อกำหนดการใช้งานซอฟต์แวร์ (EULA) ตอนที่ 1

ในการใช้งานซอฟต์แวร์โดยทั่วไป ทุกคนน่าจะเคยผ่านตาข้อกำหนดการใช้งานซอฟต์แวร์ หรือ End User License Agreement (EULA) ที่เด้งขึ้นมาตอนเราติดตั้งโปรแกรมใช่ไหมล่ะครับ วันนี้เลยจะมาขอบอกเล่าแนวทางในการร่างข้อกำหนดการใช้งานซอฟต์แวร์สำหรับการใช้งานทั่วไปให้ได้อ่านกันครับ

EULA เป็นข้อตกลงที่มีผลบังคับตามกฎหมายระหว่างผู้เผยแพร่ซอฟต์แวร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนาหรือผู้จัดจำหน่ายก็ตาม กับผู้ใช้งาน หรือบางคนอาจจะใช้เป็นคำว่า “ข้อกำหนดและเงื่อนไข (Terms and Conditions)” หรือ “ข้อกำหนดการใช้งาน (Terms of Use)” ก็ตามแต่จะเรียก ซึ่งหัวใจหลักยังคงเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ (หรือความเชื่อมโยงตามกฎหมาย) ซึ่งในบทความนี้ก็จะนำ EULA ของ Windows 10 มาชำแหละให้ดูกันว่าประเด็นที่ Microsoft ระบุไว้ใน EULA มีอะไรบ้าง โดยจะคัดเฉพาะข้อความที่น่าสนใจมาแปลให้ดูกันครับ

บทนำ 

โดยการยอมรับหรือใช้งานซอฟต์แวร์ คุณได้ตกลงยอมรับข้อกำหนดทั้งหลายและยินยอมให้มีการส่งต่อข้อมูลบางอย่างในระหว่างการเปิดใช้งานและการใช้งานซอฟต์แวร์ตามที่ได้ระบุเอาไว้ หากคุณไม่ยอมรับหรือปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ คุณอาจไม่สามารถใช้งานซอฟต์แวร์หรือฟีเจอร์ได้

ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่ใช้ก่อตั้งข้อสันนิษฐานในกรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้น เนื่องจาก EULA โดยสภาพแล้วจะเป็นเพียงหน้าต่าง Pop-up ขึ้นมาให้ผู้ใช้งานกดยอมรับ หรืออาจจะเป็นเพียงลิงค์นำทางไปยังข้อกำหนดฉบับเต็มก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ใช้งานจะต้องเห็นและกดยอมรับก่อนเปิดใช้งานเป็นอย่างช้า เพื่อให้ข้อกำหนดนี้มีผลผูกพันนั่นเองครับ ทางผู้อ่านสามารถใช้ข้อความข้างต้นเลยก็ได้ หรือจะปรับแก้ข้อความให้เป็นมิตรกับผู้อ่านเพิ่มอีกก็ได้เช่นกัน

ขอบเขตการบังคับใช้

ข้อตกลงฉบับนี้ใช้บังคับกับซอฟต์แวร์ Windows ที่ได้ติดตั้งในอุปกรณ์ของคุณตั้งแต่ในขั้นตอนการผลิต หรือได้รับจากผู้จัดจำหน่ายและติดตั้งโดยคุณ หรือสื่อใด ๆ ที่คุณได้รับซอฟต์แวร์นี้ด้วย และให้ใช้บังคับกับฟอนท์ ไอคอน ภาพ หรือเสียงใด ๆ ที่รวมมากับซอฟต์แวร์นี้ และรวมถึงอัพเดท อัพเกรด ส่วนขยาย หรือบริการของซอฟต์แวร์ เว้นแต่จะมีข้อกำหนดเป็นการเฉพาะ

ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ไว้ใช้ระบุว่าข้อกำหนดและเงื่อนไขนี้ใช้บังคับกับซอฟต์แวร์ หรือฟีเจอร์ใดบ้าง สำหรับในบางกรณีที่เรามีทั้งส่วนที่ให้บริการฟรี และส่วนที่คิดค่าบริการ ซึ่งของ Windows นั้นกำหนดขอบเขตไว้เป็น Windows OS ทั้งหมดนั่นเอง และโดยเฉพาะส่วนอัพเดท อัพเกรด ส่วนขยาย หรือบริการอื่น ๆ (หรือฟีเจอร์) ที่เราอาจจัดทำเพิ่มในอนาคต เป็นสิ่งที่ควรระบุไว้เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องกดยอมรับหรือเปิดใช้งานทุกครั้งนั่นเองครับ

บทความถัดไปจะยังคงพูดถึงเรื่อง EULA โดยอ้างอิงจาก EULA ของ Windows 10 ในประเด็นการอนุญาตให้ใช้และสิทธิในการใช้งานกันต่อ รอติดตามนะครับ


ณัฐพล สุรรัตน์รังษี

มีคำถาม? ดรอปอีเมลมาได้ที่ [email protected] นะครับ 

*ข้อเขียนข้างต้นเป็นเพียงการให้ข้อมูลโดยทั่วไปและมิได้เป็นการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย

**บทความนี้อนุญาตให้เผยแพร่ได้ภายใต้สัญญาครีเอทีฟคอมมอนส์แบบแสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน (CC BY-NC-SA)


หาทนาย จ้างทนาย